Monday, December 31, 2012

จับเสือมือเปล่ากับ Dropship


Drop Ship เป็นโมเดลใหม่ที่จะมาเติมเต็มการทำธุรกิจออนไลน์โดยไม่จำเป็นที่จะต้องสต็อกสินค้า เมื่อใดก็ตามที่มีรายการสั่งซื้อคุณเพียงแค่สั่งซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายและแล้วก็ให้ผู้จัดจำหน่ายส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้เลย แทนที่จะซื้อสินค้ามาเก็บไว้ในโกดัง ตอนแรกคุณต้องสมัครเข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้จัดจำหน่ายที่เป็น Drop Ship แล้วเอารูปสินค้าไปวางไว้ในเวบไซต์ของคุณ เมื่อไหร่ที่ได้รับออเดอร์คุณก็ส่งต่อไปยังผู้จัดจำหน่ายให้ส่งของไปลูกค้าโดยตรงจากโกดังสินค้าของ Drop Ship นั้นๆเลย 

ข้อดี 
  • ต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้า คุณจะซื้อสินค้ามาขายเมื่อคุณได้ออเดอร์เท่านั้น 
  • มีสินค้าให้เลือกมาก พอคุณไม่ได้สต็อกสินค้าคุณก็สามารถลงลิสต์สินค้าได้ตามต้องการเพราะมันไม่มีต้นทุนใดๆ 
  • ลดความเสี่ยง เนื่องจากไม่ได้ซื้อสินค้ามาจำนวนมาก จะมีความเสี่ยงเพียงแค่การลงทุนด้านเวบไซต์ ถ้ามันไม่ขายไม่ออก ก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่มีสินค้าที่เก็บไว้อยู่แล้ว 
  • สามารถทำงานได้ทุกที่ เนื่องจากคุณไม่มีโกดังสินค้า ดังนั้นคุณสามารถนั่งอยู่ตรงไหนทำงานก็ได้ แค่มีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ต 
ข้อเสีย 
  • การที่คุณไม่เห็นสินค้าก่อนอาจจะทำให้ไม่สามารถบรรยายลักษณะสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ชัดเจน เวลาลูกค้าได้ของไม่ถูกใจหรือไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการ 
  • เนื่องจากว่าสินค้าไม่ได้อยู่กับคุณจึงไม่รู้จำนวนสินค้าในสต็อก ซึ่งข้อมูลนี้จะอยู่กับผู้จัดจำหน่าย เมื่อมีคนสั่งซื้อแต่พอไปสั่งของกลับไม่มีของทำให้เสียลูกค้ารายนั้นไป

โมเดลธุรกิจนี้ทำกำไรได้จริงหรือป่าว มันก็เหมือนกับธุรกิจทั่วไป มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ดังนั้นจะสำเร็จหรือไม่และกำไรจะดีหรือป่าวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้าทำแบบถูกวิธีมันก็สร้างผลตอบแทนอย่างงามให้คุณ แต่ก็แน่นอนว่า Drop Ship ไม่ใช่ “คทาวิเศษ” ที่เสกได้ทุกอย่าง ต้องอาศัยการลงมือทำและเวลา เริ่มต้นทำ Drop Ship ถ้าหากมีสินค้าที่สนใจจะขายจริงๆจังๆ ให้ลองติดต่อไปยังผู้ผลิตโดยตรง เพื่อนำสินค้ามาลงในร้านค้าออนไลน์ของคุณ อาจจะตกลงแบ่งผลประโยชน์เมื่อสินค้าขายได้ไปด้วย ลองหาผู้ให้บริการ Drop Ship ที่รวบรวมซัพพลายเออร์ต่างๆไว้ที่เดียวกัน เนื่องจากของไทยยังไม่เป็นที่นิยมจึงขอยกตัวอย่างของต่างประเทศ Doba Worldwidebrands Salehoo เป็นต้น โดยจะมีค่าธรรมเนียมสมัครมีทั้งแบบเป็นรายเดือนและรายปี หรือแม้แต่ตลอดชีพ

Monday, December 10, 2012

การลงโฆษณาออนไลน์


การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ผู้ชมเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ต่างจากร้านค้าทั่วไปที่จะต้องมีลูกค้าเข้ามาแวะเวียนมาในร้านธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จ การที่จะทำให้ร้านค้าออนไลน์ของเรานั้นมีผู้เข้าชมนั้นจะต้องสร้างร้านของเราให้เป็นที่น่าสนใจ แต่ถึงร้านค้าของเราจะน่าสนใจเพียงหากไม่มีคนรู้จักก็ไม่มีความหมาย จึงต้องอาศัยการโปรโมทเวบไซต์ของเราผ่านช่องทางต่างๆ แต่วิธีการที่เร็วที่สุดก็คือการลงโฆษณาในสื่อออนไลน์อย่าง Google หรือ Facebook โดยปกติทั่วไปโฆษณาออนไลน์จะแบ่งออกเป็น

1. เสียค่าโฆษณาตามจำนวนการแสดงผล (CPM)  จะมีการแสดงผลการโฆษณาตามที่เราซื้อไว้ เช่น เราซื้อโฆษณาไว้จำนวน 10 CPM เท่ากับว่าจะมีการแสดงโฆษณาในหน้าของ Google หรือ Facebook 10,000 ครั้ง (1 CPM=1,000 impression) ในการลงโฆษณาแบบ CPM อาจจะต้องการแค่ประชาสัมพันธ์สินค้าให้คนรู้จักหรือจดจำในทางการตลาดเรียกว่า Brand Awareness ดังนั้นจึงมีจุดประสงค์เพียงแสดงโฆษณาให้คนชมผ่านตา และแสดง Logo ของสินค้าหรือรูปภาพของสินค้านั้นๆ ให้เป็นที่จดจำโดยไม่จำเป็นจะต้องคลิกเข้าไปดู
2.เสียค่าโฆษณาตามจำนวนคนคลิกโฆษณาของคุณ (CPC) โฆษณาแบบนี้ถ้าหากไม่มีคนคลิกโฆษณาของเราเลยก็จะไม่เสียเงิน โดยการลงแบบ CPC ส่วนใหญ่จะต้องการให้ผู้เข้าชมนั้นคลิกเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มหรือมีจุดประสงค์ทางการตลาดเฉพาะอย่าง เช่น ให้ผู้ชมนั้นคลิกเข้าไปซื้อสินค้าในหน้าเวบ (Landing Page) นั้น

การจะเลือกลงแบบไหนก็ขึ้นอยู่ว่าคุณต้องการทำการตลาดแบบไหน แต่ถ้าหากเป็นการทำโฆษณาแบบ CPC ที่จะมีค่าใช้จ่ายตามจำนวนการคลิกโฆษณานั้น อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่บานปลาย ดังนั้นจะต้องมีการทดสอบว่าจะสร้างโฆษณาแบบไหนที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเสียต้นทุนในการลงโฆษณาน้อยที่สุด วิธีการที่นิยมที่สุดก็คือการทำ A/B Split test โดยการสร้างโฆษณาออกมาเป็นสองแบบอาจจะต่างกันตรงที่คำเชิญชวนหรือรูปภาพประกอบ และส่งโฆษณาไปให้แสดงผลเป็นจำนวน 100 หรือ 1,000 ครั้ง ตามจำนวนงบประมาณที่เรามีถ้าหากมีงบลงโฆษณามากก็ทดสอบมากซึ่งจะให้ความเที่ยงตรงในการแสดงผลมากกว่า
เมื่อแสดงโฆษณาครบตามจำนวนที่เราต้องการก็ให้ดูค่าสถิติว่าแบบไหนมีสถิติดีกว่า เช่น


แบบ A จาก 100 ครั้งมีคนคลิก 10 ครั้ง นำ 10/100 จะได้ค่า CTR (Click Through Rate) เท่ากับ 0.1% แบบ B จาก 100 ครั้งมีคนคลิก 10 ครั้ง นำ 9/100 จะได้ค่า CTR (Click Through Rate) เท่ากับ 0.09% แสดงว่าแบบ A ได้ CTR ที่ดีกว่า


การใช้ CTR เพียงอย่างเดียวไม่อาจจะสรุปว่าแบบ A จะดีกว่าเนื่องจากถ้าหากคนคลิกโฆษณาเยอะ แปลว่าเราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะขึ้นอาจจะไม่คุ้มกับยอดขาย จึงต้องมีการคำนวนอัตราผลตอบแทนด้วยโดยนำจำนวนที่เราขายได้ต่อการคลิกโฆษณามาพิจารณาประกอบด้วย นั่นก็คือ Conversion Rate ซึ่งได้มาจากสูตร จำนวนจำนวนออเดอร์สินค้าหารด้วยจำนวนคลิก เช่น

แบบ A ขายสินค้าได้ 2 ชิ้น Conversion Rate จะเท่ากับ 2/10 = 0.2
แบบ B ขายสินค้าได้ 3 ชิ้น Conversion Rate จะเท่ากับ 3/9 = 0.33

ดังนั้นควรเลือกแบบ B ที่มีค่า  Conversion Rate  สูงกว่า เป็นต้น

Wednesday, December 5, 2012

ทำอันดับโดยใช้ Search Engine Optimization (SEO)


Search Engine Optimization (SEO) คือการกระบวนการทำให้เวบไซต์นั้นปรากฏและทำอันดับอยู่ในหน้าค้นหาของ search engine เช่น Google Yahoo Bing โดยเป็นการทำอันดับในหน้าค้นหา (ไม่ใช่วิธีซื้อโฆษณา) เช่น คนทั่วไปที่กำลังต้องการซื้อ เก้าอี้พับ ก็พิมพ์คำว่า เก้าอี้พับใน google ก็จะปรากฏหน้าเวบต่างๆ ให้เลือก 10 อันดับแรก การที่เวบไซต์ใดจะปรากฎอยู่ในหน้านั้นนั่นก็คือการทำ SEO นั่นเอง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แน่นอนว่าเวบไซต์ใดที่ปรากฎอยู่ในหน้านั้นก็จะมีโอกาสขายสินค้าได้มาก ยิ่งคำที่ค้นหาเป็นที่นิยมก็จะยิ่งสร้างโอกาสในการขายสินค้านั้นได้


โดยมี 2 ปัจจัยหลักๆที่จะทำให้เวบไซต์นั้นทำอันดับได้ใน Search Engine คือ

On page
คือกระบวนปรับแต่งโครงสร้างภายในเวบไซต์นั้นๆ  โดยมีหลายปัจจัยที่จะทำให้เวบนั้นติดอันดับได้แก่
1.บทความ (Content) ที่มีคุณภาพ บทความที่มีคุณภาพในสายตาของ Search Engine อาจจะเป็นไปได้ทั้งบทความที่ยาวหรือสั้นก็ได้ แน่นอนว่าต้องเป็นบทความที่ Unique สูงและเป็นบทความที่ไม่ได้เกิดมาจากเกิด copy หรือคัดลอกมาจากที่อื่น เพราะ Search Engine  อย่าง google ให้ความสำคัญกับเวบไซต์ที่มีบทความคุณภาพให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าชม แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าบทความไหนที่เป็นบทความที่มีคุณภาพในสายตา Search Engine นั้นสุดยากจะคาดเดา
2.มี Keyword อยู่ตามที่ต่างๆในเวบไซต์ เช่น ชื่อโดเมน(Domain) หัวเรื่อง(Title) บทความ(content) แท็ก(tag) หรือรูปภาพ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้คนค้นหาเวบไซต์ของเราด้วยคำว่า “เก้าอี้” ก็ควรจะมี Keyword คำนี้ใส่ลงไปในเวบไซต์ของเรา แต่ไม่ควรที่จะใส่คำเหล่านี้จนมากเกินไปจนมองว่าเป็นการ Spam เพราะ ผู้ให้บริการเวบไซต์ค้นหา (Search Engine) จะมีเครื่องมือในการการวิเคราะห์ การกระจายของกลุ่มคำต่างๆ (keyword density) ถ้าหากใส่คำว่า เก้าอี้ มากเกินไปก็จะทำให้ SE มองว่าเวบไซต์ของเราจงใจทำให้มี keyword มากเกินไปจนจนเข้าข่าย spam ทำให้เวบไซต์ของเราถูกลงโทษโดยการปรับลดอันดับเวบของเรานั่นเอง

Off Page
คือกระบวนการภายนอกที่่่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าเวบไซต์เรามีคุณภาพในสายของ Search Engine
1.Link Building คือการทำลิงค์ส่งกลับมาที่เวบไซต์ของเรา โดย Google เชื่อว่าเวบไซต์ใดที่มีลิงค์เข้ามามากก็ถือว่าเป็นเวบไซต์ที่น่าเชื่อถือได้และควรอยู่อันดับที่ดี แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการโกงโดย spam ส่งลิงค์เข้าเวบไซต์เป็นจำนวนมากเพื่อจะทำอันดับทำให้ Google นั้นต้องมีการสร้างเครื่องมือเข้ามาจัดการโดยมีการคัดเลือกลิงค์ที่ไม่มีคุณภาพออกไป โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของลิงค์ เช่น ถ้าคุณมีลิงค์มาจากเวบดังๆ อย่าง Yahoo CNN จะได้คะแนนดีกว่าเวบไซต์ที่เกิดใหม่และไม่เป็นที่รู้จัก
2.Social Media คือการทำให้เวบไซต์ของเรานั้นถูกแชร์ไปยังสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ถ้าหากหน้าเวบของเราหน้าใดถูกคนแชร์เป็นจำนวนมากๆ หน้านั้นก็จะติดอันดับใน Google ได้ดีกว่า หน้าเวบที่ไม่มีการแชร์ใน social เลย การที่เวบของเราจะถูกแชร์ไปจำนวนมากนั้นต้องทำเวบให้มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมนั่นเอง

การที่บรรดา Search Engine อย่าง google จะจัดอันดับให้เวบไซต์ใดจะได้อยู่ในหน้าแรกหรือได้อันดับดีๆ นั้นจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโดยใช้ อัลกอริทึม (algorithm) ที่ทาง google คิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอเวบไซต์ที่ตรงตามผลการค้นหาของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ google จะมีปรับเปลี่ยนปัจจัยต่างๆอยู่เรื่อยๆ ทำให้เจ้าของเวบไซต์ต่างๆต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากว่าการที่เวบไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ของคุณไม่มีตัวตนอยู่ใน Google เท่ากับว่าผู้เข้าชมหรือยอดขายอาจจะหายไปครึ่งหนึ่งเลย

Wednesday, November 14, 2012

เริ่มต้น E-commerce อย่างไรดี



ทุกวันนี้ผู้ประกอบการหลายคนหันมาสนใจ E-commerce  กันมากมาย แต่บางคนก็ยังลังเลที่จะเข้ามาทำเนื่องจากติดว่าไม่มีเวบไซต์เป็นของตัวเองจะไปจ้างทำก็อาจจะใช้งบประมาณพอสมควร จริงๆแล้วการเริ่ม E-commerce นั้นไม่จำเป็นจะต้องมีเวบไซต์เป็นของตัวเอง สามารถใช้แพล็ตฟอร์มต่างๆที่อยู่อย่างมากมาย มีทั้งแบบฟรีและไม่ฟรีอย่างเช่น
1.Social Media  
เช่น facebook เอามาทำหน้าร้านในเฟ้สบุ๊คปัจจุบันยังไม่เสียเงิน สามารถสร้างเพจได้ไม่จำกัด แต่ถ้าหากอยากจะโปรโมทให้เข้ามาชมเพจของเราเยอะๆ ก็ต้องเสี่ยเงินเพื่อซื้อโฆษณา ข้อจำกัดสำหรับ facebook คือเวลาลูกค้าจะออเดอร์จะต้องใช้วิธีการแจ้งผ่านทางข้อความ จึงไม่สะดวกเท่าเวบไซต์
2.เวบไซต์สำหรับรูป (CMS) 
อย่างเช่น wordpress หรือ joomla แม้ว่าจะใช้งานง่าย แต่อาจจะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านเวบไซต์อยู่บ้างจึงจะสามารถปรับแต่งได้สวยงาม และต้องมีการเช่า hosting และจดโดเมนด้วยซึ่งอาจจะยุ่งยากสำหรับมือใหม่
3.เวบไซต์ที่ให้บริการ E-commerce 
ใช้งานได้ง่ายเพราะแค่สมัครสมาชิกก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว จะมีทั้งแบบฟรีและไม่ฟรี บางเวบจะเป็นแบบฟรีเมื่อลงสินค้า แต่ถ้าต้องการลงรูปเพิ่มอาจจะเสียเงินเพิ่ม ขอยกตัวอย่างเวบไซต์ที่ให้บริการที่เป็นที่นิยม
ผู้ให้บริการของไทย

  • Tarad.com  เป็นเวบด้าน E-commerce  แรกๆ ของไทยที่ให้บริการด้าน E-commerce ค่อนข้างใช้งานง่าย ให้บริการฟรี แต่ถ้าอยากได้ Feature ที่เพิ่มขึ้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • Weloveshopping.com  จะมีบริการฟรีใน 30 ชิ้นแรก ถ้าหากอยากขายมากกว่านี้สามารถจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นรายปี ค่าใช้จ่ายตามแพ็คเก๊จที่เลือกเอาไว้
  • Thaitrade.com เป็นเวบไซต์ของกระทรวงพาณิชย์สามารถใช้งานได้ฟรี แต่ต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก่อน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะต้องแสดงเป็นภาษาอังกฤษเพราะส่วนใหญ่เน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

ผู้ให้บริการต่างประเทศ

  • Ebay.com เป็นเวบไซต์ที่ขายของจากทั่วโลก สำหรับผู้ขายรายใหม่อาจจะถูกจำกัดการขายต่อเดือน เมื่อใดก็ตามที่ขายได้ จำนวนที่ขายได้ต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนยอดขายได้รับ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายในการลงสินค้าและจากเปอร์เซ็นจากการขาย แม้ว่าจะมีกฎระเบียบที่เคร่องครัดและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะแต่แลกกับการที่มีจำนวนผู้ชมจากทั่วโลก ebay ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเข้าไปแย่งชิงตลาด
  • Amazon.com ไม่จำกัดการขายสำหรับผู้ขายหน้าใหม่ สามารถเลือกขายได้เลยโดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 40 USD ต่อเดือน และไม่จำกัดจำนวนชิ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเปอร์เซ็นจากการขาย โดยอเมซอนเน้นตลาดอเมริกาเป็นหลัก ถ้าขนส่งจากไทยทำให้มีค่าขนส่งค่อนข้างสูง
  • ETSY.com เน้นสินค้า Hand Made จากทั่วโลก ค่าใช้จ่ายในการลงสินค้าค่อนข้างถูก

Saturday, September 15, 2012

ใครบอกว่า e-mail marketing ล้าสมัย


ถ้าหากนึกถึง e-mail marketing คนจะนึกถึงการทำการตลาดแบบ Customer Relationship Management (CRM) การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งจะมีการส่งอีเมลไปให้ลูกค้าเพื่อรักษาความสัมพันธ์หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลโปรโมรชั่นใหม่ๆให้แก่ลูกค้า บางคนก็อาจจะมองว่า e-mail marketing ล้าสมัยไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะมีแต่จดหมายขยะ(spam) คนแทบจะไม่เปิดอ่านและหันไปสนใจที่จะทำการตลาดบนแพล็ตฟอร์มอื่นอย่าง social media  หรือ search engine แต่ที่จริงแล้ว e-mail marketing ยังสามารถทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวันนี้อยู่ เนื่องจากสามารถกำหนดเวลาให้ส่งอีเมลอัตโนมัติสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า social media เช่น ถ้าหากเราอยากจะส่งข้อความอวยพรในวันสำคัญของลูกค้าเราสามารถส่งอีเมลโดยใช้บริการเมลอัตโนมัติให้ส่งไปตามวันที่เราต้องการได้ แต่ถ้าเป็น social media อย่าง facebook หรือ twitter เรายังไม่สามารถกำหนดเวลาในการส่งได้

บริการส่งอีเมลอัตโนมัติ (email autoresponder) เป็นบริการที่ไว้โต้ตอบอีเมลกับลูกค้าโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นเมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อสินค้า จะมีการส่งอีเมลไปให้ลูกค้าทันทีที่ได้รับการชำระเงิน โดยที่ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าผู้ขายจะได้รับเงินหรือยัง ถ้าหากเราจะมาตอบเองตลอดอาจจะช้าไม่ทันกา จึงรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเอาไว้ได้ โดยที่บริการส่งอีเมลอัตโนมัติพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถกำหนดเวลาส่งเมลให้แก่ลูกค้าได้ เช่น ถ้าหากอยากทำการตลาดกับคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งที่เวลาต่างกัน ก็กำหนดเวลาเป็นรายคนได้  เช่น ให้ส่งอีเมลไปทักทายในตอนเช้าๆของแต่ละวันพร้อมนำเสนอสินค้าให้แก่ Propect เหล่านั้น (Prospect คือ คนที่อยู่ในรายชื่ออีเมลของเรา โดยที่มีความสนใจในสิ่งที่เรานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในเว็บไซต์ของเรา หรือสินค้าของเรา คือเรียกว่า มีโอกาส ที่จะบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ นั่นก็คือการซื้อสินค้า) แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ปรารถนาสำหรับคนอ่านเมลก็คือจดหมายขยะ และผู้บริการอีเมลอย่าง Gmail Hotmail ก็ชอบจับเมลขยะไปไว้ใน junk mail box ทำให้อีเมลไม่ถึงผู้อ่าน ดังนั้นหากจะหลุดออกจาก junk mail ได้จะต้องให้ผู้อ่านอีเมลต้องยืนยันการรับข้อมูลของเราก่อน และควรจะใช้บริการกับผู้ให้บริการส่งอีเมลอัตโนมัติที่น่าเชื่อถือและการันตีว่าเมลของเราจะไม่ถูกส่งไปอยู่ใน junk mail

ตัวอย่างผู้ให้บริการได้แก่
Aweber Autoresponder
iContact Autoresponder
Get Response
Infusion Soft
Auto Response Plus
MailiGen Autoresponder
Traffic wave Autoresponder
Vertical Response
Office Autopilot
Mail Machine Pro
EZ-Response Autoresponder
Conclusions

โดยผู้ให้บริการเหล่านี้จะมีการเรียกเก็บค่าบริการเป็นส่วนใหญ่  โดยจะเก็บตามจำนวนอีเมลลิสของเราที่จะส่งไป เช่นจะสามารถส่งอีเมลได้ 500 รายชื่อ ถ้าหากต้องการให้ส่งไปยังรายชื่อเมลได้มากขึ้นก็ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น เป็นต้น

Saturday, September 8, 2012

มารู้จักอีคอมเมิร์ซ


การพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า อีคอมเมิร์ซ คือการทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตที่มีตลาดการค้าออนไลน์อยู่มากมายมหาศาล ซึ่งต่างจากตลาดแบบดั้งเดิมที่ผู้ซื้อขายต้องมาเจอหน้ากันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่ตลาดออนไลน์ผู้ซื้อและผู้ขายอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างอยู่คนละมุมของโลกก็สามารถซื้อขายกันได้ ในปัจจุบันการเติบโตในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากเนื่องจากเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่พัฒนาขึ้นทำให้สะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะอาศัยช่องทางการส่งเสริมการตลาดบนโลกออนไลน์นำมาเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจของตน

ข้อดี

  • ต้นทุนในการประกอบธุรกิจต่ำเนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน โดยอาศัยเวบไซต์เป็นหน้าร้านเสมือนในโลกอินเตอร์เน็ต
  • สามารถประกอบธุรกิจได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องปิดร้านในตอนหัวค่ำแบบร้านค้าทั่วไป
  • การติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว สามารถโต้ตอบกันได้ทันที
  • ลดต้นทุนการเดินทางไปซื้อสินค้า ผู้ซื้อสินค้าสามารถสั่งสินค้าจากที่บ้านได้เลย

ข้อเสีย

  • ผู้ซื้อและผู้ขายอาจจะมีความเสี่ยงเนื่องจากไม่เห็นหน้าซึ่งกันและกัน อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวมา
  • ความเสี่ยงจากการจารกรรมข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ (Hack) เนื่องจากต้องมีการธุรกรรมทางระบบออนไลน์
  • ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีในระดับหนึ่งถึงจะติดต่อกันได้
  • ผู้ซื้อสินค้าไม่เห็นสินค้าจริง มีโอกาสเห็นจากรูปถ่ายเท่านั้นจึงเป็นความเสี่ยงของผู้ซื้อเนื่องจากสินค้าบางอย่างจำเป็นต้องลองใช้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า  

Saturday, September 1, 2012

ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) 101


ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) คืออะไร
ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง คือการทำการตลาดโดยใช้สื่อดิจิตอลหรือสื่อออนไลน์ดึงดูดให้ผู้ซื้อหรือผู้รับสารกระทำตามที่เป้าหมายทางการตลาดที่วางไว้ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการและกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยที่ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งยังสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทจะขอยกตัวอย่างเป็นบางประเภทที่สำคัญๆ

1.SEM หรือ Search Engine Marketing คือ การทำการตลาดโดยผ่านช่องทางในเวบไซต์สำหรับค้นหาหรือเซิรชเอ็นจิ้น อย่าง Google Bing  Yahoo โดยยังสามารถแบ่งเป็น การทำอันดับในหน้าค้นของการเซิร์ชเอ็นจิ้นหรือ เรียกว่า การทำ SEO หรือ Search Engine Optimization  และการจ่ายเงินเพื่อให้แสดงโฆษณาในหน้าค้นหา โดยโฆษณาที่แสดงจะสัมพันธ์กับ keyword ที่ค้นหา

2.E-Mail Marketing เป็นการทำการตลาดที่มีตั้งแต่ดั้งเดิม และยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน โดยผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ส่งไปยังเครือข่ายของตัวเองซึ่งสามารถทำเพื่อกระตุ้นยอดขายและทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) โดยมีทั้งที่เราส่งจดหมายเอง ไปยังผู้รับ หรือการใช้บริการผ่านทางผู้ให้บริการอีเมลอัตโนมัติ ซึ่งอีเมลจะถูกส่งตามวันเวลาที่กำหนดไว้เช่น ถ้าหากต้องการสื่อสารแก่กลุ่มเป้าหมายในช่วงเทศกาลก็สามารถกำหนดให้ส่งในวันเวลาที่กำหนดได้

3.Social Media Marketing คือการทำการตลาดผ่านช่องทาง Social Media ซึ่งช่องทางนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เช่น Facebook Twitter และ Instragram โดยให้ผู้ที่สนใจติดตามยังหน้าเพจของตัวเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ (Engagement) กับลูกค้า เมื่อต้องการที่จะสื่อสารไปยังคนจำนวนมากขึ้นสามารถซื้อโฆษณากับ Socail Media นั้นๆ เพื่อวางโฆษณา โดยมีแบบโฆษณาเป็นจำนวนครั้งที่แสดงผล (CPM) และโฆษณาแบบคิดตามจำนวนคนที่กดดู (CPC) โดยที่เราสามารถเลือกโฆษณาตามลักษณะทางประชากร (Demographic) เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา ความสนใจ ช่องทางนี้จึงเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารไปยังผู้ชมได้อย่างตรงเป้าหมาย

4.Seeding คือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมโดยการเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับแบรนด์สินค้านั้น โดยจะไม่เล่าเรื่องราวกับแบรนด์สินค้านั้นตรงๆ เช่น การเขียนเล่าเหตุการณ์ต่างๆ โดยนำสินค้านั้นไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย โดยผู้อ่านจะซึมซับเอาแบรนด์สินค้านั้นผ่านเรื่องราวที่นักเขียนโดยไม่รู้ตัวทีละน้อยๆ เหมือนกับการเพาะเมล็ดพันธ์ (Seeding) ที่ต้องมีการหมั่นรดน้ำทุกวันนั่นเอง

การที่เราจะเลือกเครื่องมือในไหนการทำดิจิตัลมาร์เก็ตติ้งนั้นควรจะเลือกเครื่องมือที่เหมาะกับเป้าหมายทางการตลาดของคุณ การเลือกเครื่องมือผิดอาจจะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แถมยังเสียเวลานั่นเอง